Jump to content
We are currently closing new member registration for the time being. We apologize for the inconvenience. ×

Capsule Monster: สำรวจดูแนวคิดเล็กๆ ของหนึ่งในเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา


Foolboy

Recommended Posts

2013063011418-foolboy-capsule_monsters_logo.png

:pokeball: ทักทายกับผู้อ่าน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งแล้วนะครับ หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายปีดีดักเหลือเกิน (ผมรู้สึกว่าเวลาล่วงเลยไปนานขนาดนั้นจริงๆ ครับ = =’) ซึ่งผม ในฐานะทีมงาน ก็ต้องกล่าวขออภัยทุกท่าน ที่รอคอยติดตามอ่านข่าวและบทความจากทางเว็บไซต์ ของเราเสมอมา เป็นอย่างสูงด้วยนะครับ และจากนี้ไป ผมจะพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิมครับ เพื่อนำเสนอข่าว และบทความในทุกแง่มุมของโปเกมอน มาให้ทุกท่านได้ติดตามรับชมกันอย่างต่อเนื่องต่อไปครับ

แต่ก็ใช่ว่า ที่แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างเอาไว้แต่อย่างใดนะครับ  เรายังคงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกของเว็บบอร์ดทุกท่านได้เข้ามาร่วมสนุกกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม และ พร้อมกันนี้ ในหน้า ของเรา ก็ยังได้มีการเพิ่มหัวข้อของเนื้อหาขึ้นมาใหม่ อย่าง “Do You Know?” ที่เป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับโปเกมอน ที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน มานำเสนอในรูปแบบที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับจากทุกท่านเป็นอย่างดีเลยทีเดียว (ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ) รวมทั้งกิจกรรม ที่กำลังจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้อีกด้วย จะเป็นกิจกรรมแบบไหนนั้น ติดตามรายละเอียดกันให้ดีอย่าให้คลาดสายตาครับ

เห็นดังนี้แล้ว จะรอช้าอยู่ใยครับ? ขอเชิญทุกท่าน เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรากันได้ ณ บัดนี้เลยครับ แล้วท่านจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไม เราจึงกล้าพูดว่าที่นี่ คือหนึ่งในเว็บไซต์กลุ่มแฟนคลับโปเกมอน ที่มีคุณภาพมากที่สุดในประเทศไทยครับ :-)

:pokeball: Update ข่าวโปเกมอน

201306039460-foolboy-pokemon_x_y_logo.jpg

ข่าวคราวเกี่ยวกับภาคล่าสุดของเกมโปเกมอน นั่นก็คือ Pokémon X และ Pokémon Y ค่อยๆ ทวีความเข้มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ เมื่อกำหนดการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ค่อยๆ งวดเข้ามาทุกที ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะสิ้นสุดลงไปนี้ ก็ไม่ทำให้แฟนๆ เกมที่เฝ้าคอยอยู่ผิดหวังแม้แต่น้อยเลยนะครับ เนื่องจากว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกมภาคใหม่นี้เป็นจำนวนมากที่ถูกทยอยปล่อยออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการเสวนาของทีมพัฒนาเกม ภายในงาน E3 Expo 2013 ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาครับ เรียกได้ว่าทำเอาทีมงานของเราประมวลข้อมูลกันแทบไม่ทันเลยทีเดียวครับ 55 ทั้งนี้ เนื่องด้วยปริมาณข้อมูลที่อัดแน่นมากๆ ของสิ่งที่เราทราบในตอนนี้ รวมทั้งทีมงานของเรา ยังได้มีการนำเสนอข้อมูลนี้บางส่วน ในหน้า Official Facebook Fanpage ของเรา เมื่อช่วงที่ข่าวเพิ่งออกมาใหม่ๆ ไปแล้ว (รวมทั้งแฟนเพจและเว็บไซต์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งผมต้องขอโทษท่านผู้อ่านอีกครั้งด้วยนะครับที่ไม่ได้เข้ามา Update ข้อมูลในนี้ตั้งนานเลย) ดังนั้น ผมและทีมงาน จึงขออนุญาตทำการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเตรียมนำเสนอเป็นกระทู้แยก ให้ทุกท่านได้รับชมกันในโอกาสต่อไปครับ

2013063011621-foolboy-pokecreator.png

นอกจากนี้แล้ว ก็จะมีข่าวอีกเล็กๆ น้อยๆ ครับที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ อย่างแรกก็คือ เรื่องของการออกแถลงการณ์คำเตือนจาก Nintendo เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมโกงเกม Pokémon ภาคปัจจุบันอย่าง Black 2 และ White 2 ครับ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาครับ

Nintendo ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ Application หนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างโปเกมอน ที่มีค่า Stat มากกว่าที่ผู้เล่นจะสามารถพบได้ในเกมตามปกติ ลงในเครื่องเล่นเกม Nintendo DS และ Nintendo 3DS ได้ โดย Nintendo กล่าวว่า Application ซึ่งมีชื่อว่า PokéCreator นี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบของเกม ขาดเสถียรภาพ  หรือแม้กระทั้งทำให้ข้อมูลสูญหายได้ด้วยครับ “หากว่า Pokémon ที่ได้รับการใส่เข้าไปในเกมอย่างผิดๆ นี้ เกิดหลุดไปอยู่กับผู้เล่นคนอื่นแล้ว มันจะทำให้เกิดข้อเสียต่างๆ มากมายอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว”

Application PokéCreator ที่มีให้ดาวน์โหลดได้ใน Smartphone ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android นี้ สามารถทำให้ผู้ใช้งาน สร้าง Pokémon ที่มีค่าคุณสมบัติต่างๆ อย่างไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ หลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้ผู้ใช้ สามารถตั้งค่า Application เพื่อทำการโอนข้อมูลจากใน Smartphone เข้าไปสู่ Nintendo DS และ Nintendo 3DS ผ่านทาง Wi-Fi Tethering หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน Wi-Fi ซึ่ง Smartphone แทบทุกรุ่นสามารถทำได้อยู่แล้ว “คุณเบื่อใช่ไหมครับ ที่ต้องมานั่งเก็บ Level Pokémon หรือว่าค่า EVs (Effort Values) จากการฟักไข่อันน่าเบื่อหน่าย? อยากจะเป็น Trainer ที่เก่งกาจที่สุดข้างนอกนั่นไหมละครับ?” เป็นคำโฆษณาเชิญชวนให้ผู้ใช้ ดาวน์โหลด Application ดังกล่าว ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ 99 cents หรือราว 31 บาทครับ

Nintendo ยังกล่าวในแถลงการณ์เตือนอีกด้วยครับว่า ผู้เล่นที่ถูกจับได้ว่า ใช้งาน Application ดังกล่าวนี้ในเซฟเกมของ Pokémon Black 2 และ White 2 จะหมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน หรือว่า Tournament Event ใดๆ ก็ตามที่จะจัดขึ้นในอนาคตทันทีอีกด้วยครับ ดังนั้นแล้ว ทุกท่านก็คงต้องคิดดูให้ดีก่อนนะครับ ก่อนที่จะดาวน์โหลด Application ตัวนี้มาใช้ในเกม Pokémon ของตนเอง

2013063011733-foolboy-pokemonmacysparade.jpg

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ หลังจากงาน E3 Expo 2013 แล้ว ในตอนแรก เราคาดหวังว่า Pokémon X และ Pokémon Y คงจะมีการจัดงานเปิดตัวอีกครั้ง ในงาน Tokyo Game Show 2013 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19-22 กันยายน 2556 ที่ Makuhari Messe จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่นครับ แต่กลับกลายเป็นว่า Pokémon X และ Pokémon Y จะชิงจัดงานของตัวเองตัดหน้าไปก่อนด้วยครับ นั่นก็คือ งาน Pokémon Game Show ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2556 ที่ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียวครับ ในงานนี้ ผู้เข้าชมงานจะได้ทราบถึงความคืบหน้าต่างๆ เกี่ยวกับเกม Pokémon ในปัจจุบันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Anime ตอนใหม่ๆ หรือว่าโครงการเกม Pokémon Tretta บน Nintendo 3DS แล้ว แน่นอนครับ ยังจะได้มีโอกาสสัมผัสกับเกม Pokémon X และ Pokémon Y Version ทดสอบก่อนใครอีกด้วย น่าอิจฉาคนญี่ปุ่นจริงๆ ครับ >_<


:pokeball: เจ้าลูกบอลกลมๆ ลูกนี้ มันมีที่มาอย่างไรกันนะ?

ในปัจจุบันนี้ คงกล่าวได้ว่า ไม่มีชาว Gamer คนใดที่ไม่รู้จักเกมระดับตำนานอย่าง Pokémon เหลืออยู่อีกแล้วหรอกนะครับ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เล่น หรือติดตามข่าวเกมอยู่เป็นประจำ ก็คงจะเคยได้ยิน หรือรู้จักชื่อเกมนี้จากที่แห่งอื่นอยู่บ้าง ซึ่งเรื่องราวของเกมโปเกมอน รวมทั้งสื่อและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน, ไพ่ Trading Card, หรือแม้แต่ตัวตุ๊กตุ่น Figure สำหรับสะสม เป็นต้น ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก และวัยหนุ่มสาว ของผู้คนหลายต่อหลายคน (หรือแม้แต่บางคนก็ยังล่วงเลยมาจนถึงวัยแก่ เช่นผมเป็นต้น 55) ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้คน ที่ให้ความสนใจในเกมนี้ เกิดขึ้นเป็นแฟนคลับและชุมชน Communities เป็นจำนวนมาก รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกมุมโลก กับการขยายขอบเขตของแฟรนไชส์ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ จากทีมผู้พัฒนาอย่าง GAME FREAK, Creatures Inc., Nintendo และเหล่าผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลัง ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมา ทำให้ Pokémon คือหนึ่งในแฟรนไชส์ของเกมยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จัก และมีผู้คนกล่าวถึงมากที่สุดในโลกครับ การันตีด้วยการติดอันดับเว็บไซต์รีวิวเกมต่างๆ มากมาย รวมทั้งในปี พ.ศ. 2552 Guinness Books of World Records ยังได้จัดให้เกม Pokémon ภาคแรกสุดอย่าง Pokémon Red & Pokémon Green คือเกมแนว RPG ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

หลายท่านที่มีโอกาสได้คลุกคลีกับเกม Pokémon คงจะพอทราบกันมาก่อนแล้วนะครับว่า แนวคิดของเกม Pokémon มีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์เมื่อครั้งเยาว์วัยของคุณ Satoshi Tajiri บิดาผู้ให้กำเนิดเกม Pokémon ที่ชื่นชอบการจับ สะสมแมลง และเลี้ยงลูกอ๊อดเป็นชีวิตจิตใจ (การจับแมลงมาเลี้ยง และต่อสู้กับแมลงของคนอื่น เป็นการละเล่นที่นิยมกันมากในหมู่เด็กญี่ปุ่นสมัยก่อน) แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า แนวคิดง่ายๆ เช่นนี้ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่จะมาเขย่าวงการเกมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนได้อย่างไร ซึ่งบทความในครั้งนี้ก็จะพาทุกท่านย้อนอดีต กลับไปสำรวจดูแนวคิดดังกล่าวกันให้ชัดๆ อีกครั้งหนึ่งครับ

เมื่อคุณ Satoshi Tajiri ค่อยๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ความเจริญก้าวหน้าของตัวเมืองก็ค่อยๆ รุกคืบเข้ามายังเขตที่เขาอาศัยอยู่ เหล่าประชากรแมลงที่เคยมีอยู่ก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงไป และทำให้เขาต้องละทิ้งงานอดิเรกสุดโปรดไปอย่างไม่เต็มใจนัก คุณ Tajiri สังเกตเห็นว่า เด็กๆ ยุคใหม่ เริ่มที่จะเก็บตัวเล่นอยู่แต่ในบ้านของตัวเอง (หรือบ้านของเพื่อน) มากขึ้น ไม่ออกมาเล่นสนุกกันข้างนอกเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างเกมหนึ่งขึ้นมา เกมที่จะมีเหล่าสัตว์ประหลาดที่เปรียบเสมือนกับเหล่าแมลงในวัยเด็กของเขา ซึ่งผู้เล่นสามารถตั้งชื่อ ทำความคุ้นเคยกับมัน และควบคุมมันได้ตามต้องการ แต่เกมนี้จะต้องแตกต่างจากเกมอื่นๆ ตรงที่ว่า สัตว์ประหลาดจะต้องไม่มีวันตายในการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน เพียงแต่หมดสภาพไปเท่านั้น และสามารถพักผ่อนให้กลับมาแข็งแรงได้ดังเดิมอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะคุณ Tajiri ไม่อยากที่จะทำให้วงการเกมในปัจจุบันนี้ต้องมี “ความรุนแรงอย่างไร้จุดหมาย” เพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้นั่นเอง

2013063012121-foolboy-capsulemonster_1.jpg

ในปี พ.ศ. 2532 นั้น ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นสองอย่างซึ่งส่งผลอย่างยิ่ง ต่อการถือกำเนิดขึ้นมาของเกม Pokémon อย่างแรกก็คือ Nintendo ได้เปิดตัววางจำหน่าย Game Boy  ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเกม Console พกพาตัวที่สองของบริษัทฯ อย่างเป็นทางการ (ซึ่งก่อนหน้านี้คือ Game & Watch เครื่องเล่นเกมพกพาแบบไม่สามารถเปลี่ยนเกมที่เล่นได้ ซึ่งเริ่มผลิตออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523) เกือบสัปดาห์หนึ่งหลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างที่สองขึ้น คุณ Tajiri กับคุณ Ken Sugimori เพื่อนรวมงานของเขา ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงให้ GAME FREAK แบรนด์นิตยสารที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับความคืบหน้า และข่าวคราวของเกมในญี่ปุ่น ที่ทั้งสองร่วมจัดทำขึ้นมานานกว่า 10 ปี ให้กลายเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เกมอย่างเป็นทางการ

2013063012330-foolboy-capsulemonster_2.jpg

หลังจากที่คุณ Tajiri ได้เห็น Game Boy เป็นครั้งแรกนั้น เขาได้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนจะไร้ขีดจำกัด ที่เขาจะสามารถทำได้กับเครื่องเล่นเกมพกพาตัวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการเชื่อมต่อระหว่าง Game Boy สองเครื่อง ซึ่งเรียกว่า Link Cable นั่นเอง มันทำให้เขาจินตนาการได้ถึงภาพของเหล่าสัตว์ประหลาด ที่เดินทางไปตามสายเคเบิล และเข้าไปต่อสู้กับสัตว์ประหลาดของในเครื่องเล่นเกมของผู้เล่นคนอื่นได้เลยทีเดียว รวมทั้งความเป็นไปได้หนึ่ง นั่นก็คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของเกม ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ไอเทม หรือสัตว์ประหลาดในครอบครองระหว่างผู้เล่นด้วยกัน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากในวงการเกมสมัยนั้น นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า Game Boy ดูเหมือนว่าจะออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกมแบบ Puzzle หรือ Action เสียมากกว่า (เช่น Tetris, Super Mario Bros. หรือ Contra) แต่หลังจากที่คุณ Tajiri ได้เห็นถึงความสำเร็จของเกม The Final Fantasy Legend ของค่ายเกม Square (ชื่อดั้งเดิมก่อนที่จะมารวมตัวกับบริษัท Enix ในปี พ.ศ. 2546) ทำให้เขามองเห็นถึงลู่ทาง ที่จะทำตลาดกับเกมประเภทอื่นๆ บนเครื่องเล่นเกมตัวนี้ได้เช่นกัน และยังมีอีกสิ่งหนึ่งด้วยครับ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบโครงร่างของเกมขั้นต้นของคุณ Tajiri นั่นก็คือการ์ตูนเรื่อง Ultraman นั่นเอง ซึ่งใน Season ที่มีชื่อว่า Ultra Seven นั้น ตัวร้ายของเรื่องจะมีการเรียกใช้สัตว์ประหลาดตัวยักษ์ ที่เก็บอยู่ภายในแคปซูลขนาดเล็ก เพื่อมาช่วยในการต่อสู้ระหว่างตนกับเหล่า Ultraman อีกด้วย

คุณ Tajiri จึงเริ่มรวบรวมความคิด และลงมือเขียนแบบโครงร่างคร่าวๆ ของเกมนี้ขึ้นมา ซึ่งในตอนต้นนั้น เขาตั้งชื่อให้เกมนี้ว่า Capsule Monster และเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว เขาได้นำเสนอมันให้กับทีมผู้บริหารของ Nintendo ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. 2533 เพื่อขอสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาเกมดังกล่าว ในช่วงต้นนั้น ดูเหมือนว่าบรรดาผู้บริหารของ Nintendo จะไม่ค่อยชอบใจแนวคิดของ Tajiri สักเท่าใดนัก ข้อเสนอโครงการของเขาจึงถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับ Shigeru Miyamoto นักพัฒนาเกมระดับแนวหน้าของ Nintendo เจ้าของไอเดียของเกมระดับตำนานอย่าง Mario และ The Legend of Zelda ผู้ซึ่งช่วยขัดเกลาแนวคิดของ Tajiri และช่วยผลักดันโครงการของเขาให้เข้าตากรรมการ จนกระทั่งในที่สุดก็ได้การอนุมัติ และนี่เองครับ คือจุดกำเนิดของเกมที่จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งตำนานที่ถูกจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของวงการเกมไปตลอดกาล

2013063012524-foolboy-capsulemonster_4.jpg

เรามาเริ่มต้นการสำรวจกันที่หน้าปกของ Capsule Monster กันดีกว่าครับ จะเห็นได้ว่า บรรดาสัตว์ประหลาดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือข้อเสนอของโครงการเกมนี้ ช่างดูไม่คุ้นตาเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับ Pokémon Red & Pokémon Green ซึ่งเป็นเกมตัวจริงที่ออกวางจำหน่ายใช่ไหมครับ? ซึ่งคุณ Tajiri และคุณ Sugimori ก็ได้ให้เหตุผลเอาไว้ด้วย ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งกับ Nintendo

Sugimori: “ขนาดของหน่วยความจำในตลับ Game Boy และจำนวนของ Pokémon ที่พอเหมาะพอดีในเกมนั้นเป็นประเด็นที่ผมหนักใจทีเดียวเลยละครับ เพราะว่าเราอยากจะทำให้มันมีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สุดท้ายแล้ว เราก็เลยลงเอยด้วยการออกแบบ Pokémon ออกมามากกว่าที่เรานำไปใช้ถึงครึ่งหนึ่งเลยแน่ะครับ”

Tajiri: “ผมคิดว่าเราได้ออกแบบ Pokémon ออกมามากกว่า 200 ตัวเลยละครับในตอนแรก แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องจำใจตัดให้เหลือเพียงแค่ 150 ตัวเพราะว่าข้อจำกัดของขนาดหน่วยความจำนั่นเองครับ (คุณ Tajiri ไม่ได้อ้างถึงมิว: Mew ซึ่งแอบซ่อนอยู่ในเกม ในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้) แนวทางการทำงานของเราชัดเจนอยู่แล้วในตอนต้นครับว่า เราจะสร้างทุกอย่างที่เราอยากให้มีออกมาก่อน หลังจากนั้นพอประสบกับอุปสรรค อย่างขนาดหน่วยความจำที่มีอยู่นี้ เราจึงค่อยๆ ตัดสิ่งเราไม่สามารถใส่ลงไปได้ในเกมออกไปครับ”

ในหน้าแรก เราจะพบกับบทนำ ซึ่งแสดงถึงรายละเอียดคร่าวๆ ของเนื้อหาภายในเกม Capsule Monster ตามที่คุณ Tajiri จินตนาการเอาไว้

201306301279-foolboy-capsulemonster_5.jpg

เรื่องราว (สมมติ) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

เวลาเพิ่งผ่านไปได้เพียงแค่เดือนเดียวเองครับ หลังจากการวางจำหน่าย Capsule Monster  เกมที่ให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นตัวละคร ที่สามารถควบคุมเหล่าสัตว์ประหลาดที่เก็บอยู่ในแคปซูลขนาดจิ๋วได้อย่างใจนึก และใช้พวกมันในการสำรวจโลกของเกม รวมทั้งตะลุยไปตามด่าน และดันเจี้ยนต่างๆ ซึ่งก่อนที่ผมจะเริ่มต้นเล่าเนื้อหาในเกมนี้ ผมคิดว่า พวกคุณคงจะรู้จักกับตู้ขายของเล่นที่เก็บอยู่ในแคปซูล ที่เรียกกันว่า กาชาปอง (Gashapon) ใช่ไหมครับ? ผมคิดว่า เกมของผมนี้ก็จะสามารถนำเสนอความน่าตื่นเต้นให้กับผู้เล่น ได้เช่นเดียวกับเวลาที่เราเปิดลุ้นหาของเล่น ที่ได้จากตู้กาชาปองเช่นกันครับ

ในเกม Capsule Monster นั้น มีบรรดาสัตว์ประหลาดมากกว่า 200 ชนิด อาศัยและซ่อนตัวอยู่ในดันเจี้ยนใต้ดินขนาดยักษ์ภายในตลับ Game Boy รอคอยให้ผู้เล่น ซึ่งจะสวมบทบาทเป็นฮีโร่ของเกม เข้าไปทำความรู้จักกับพวกมัน และหากผู้เล่นมีค่า “คุณสมบัติ” (Charisma) มากพอ ก็จะสามารถจับพวกมันมาเป็นพวกเดียวกับผู้เล่นได้อีกด้วย ค่าคุณสมบัติที่ว่านี้ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากครับสำหรับผู้เล่นเกมชาวญี่ปุ่น เพราะว่ามันยังไม่เคยปรากฏให้เห็นในเกมแนว RPG ใดๆ ของเรามาก่อนเลย นอกจากนี้แล้ว เกม Capsule Monster ยังแตกต่างจากเกม RPG อื่นๆ ตรงที่เราสามารถจับสัตว์ประหลาดมาเป็นพวกของเราแบบเป็นๆ ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเอาชนะหรือว่าฆ่ามันในการต่อสู้ครับ

ในรายชื่อของสัตว์ประหลาดราว 200 ตัวที่มีอยู่ในเกมนี้ บางตัวอาจจะไม่เคยมาปรากฏตัวให้ผู้เล่นเห็นเลย บางตัวอาจจะไม่ยอมให้เราจับได้ หรือยอมเป็นพวกของผู้เล่น และบางตัวนั้น ถ้าหากผู้เล่นพลาดโอกาสในการจับมันแล้ว ก็จะไม่มีวันจับมันได้อีกเลยตลอดทั้งเกม ซึ่งผมและเพื่อนของผมเรียกมันว่า “สัตว์ประหลาดแห่งมายา” (Illusory Monster) ครับ

หลังจากที่ผมเล่นเกมนี้ไปได้สักระยะหนึ่ง ผมก็สามารถหาเจ้ามังกรสีเขียวมาเป็นพวกของผมได้ถึงสามตัว ซึ่งพวกมันเป็นสัตว์ประหลาดที่หาตัวได้ยากยิ่งเลยละครับ เพราะว่าพวกมันอาศัยอยู่ส่วนลึกที่สุดของดันเจี้ยนใต้ดินนี้ ลึกลงไปกว่า 4 ชั้น ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่มีค่าคุณสมบัติเดียวกับผมคงจะต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึง 2 ชั่วโมงในการหามังกรสีเขียวนี้มาเป็นพวกสักตัว และแน่นอนครับว่า Takuji เพื่อนของผมนั้น อยากที่จะได้มังกรสีเขียวมาเลี้ยงสักตัวเหมือนกัน ผมลองดูรายชื่อสัตว์ประหลาดที่เป็นพวกของเขาแล้ว ปรากฏว่าเขามีหิ่งห้อยเป็นพวกของเขาอยู่สองตัวด้วยกันแน่ะครับ

ที่โรงเรียน บทสนทนาเรื่อง Capsule Monster ระหว่างผมกับ Takuji ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นหลังจากระฆังหมดคาบเรียนดังขึ้น พวกเราแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าใครมีสัตว์ประหลาดแห่งมายาตัวไหนบ้าง และมีด้วยกันกี่ตัว แน่นอนครับว่าพวกเราไม่ได้แค่คุยโวโอ้อวดกันเองเท่านั้น เพราะหลังจากที่ผมและเพื่อนตกลงกันได้แล้วว่าใครอยากได้สัตว์ประหลาดตัวไหน พวกเราก็ดึงเอา Game Boy ออกมาเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิล เพื่อที่จะทำการแลกเปลี่ยนสัตว์ประหลาดที่ตกลงกันไว้ทันที เห็นไหมครับว่ามันน่าตื่นเต้นแค่ไหนที่เกมนี้สามารถทำในสิ่งที่พวกเราต้องการได้

Takuji ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนหิ่งห้อยของเขา กับมังกรเขียวของผมสองตัว ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมกับผมสักเท่าไหร่ ดังนั้น ผมจึงถามเขาว่าจะเป็นอะไรไหมถ้าเขาจะมอบ Powerking ให้ผมสัก 5 ตัวด้วย สัตว์ประหลาดตัวนี้แม้จะไม่ใช่สัตว์ประหลาดแห่งมายา แต่ด้วยความแข็งแกร่งราวกับนักรบของมัน ทำให้ผู้เล่นที่มีมันในครอบครองจำนวนมาก จะสามารถบุกฝ่าลึกเข้าไปในดันเจี้ยนได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่ง Takuji ก็ตอบรับข้อเสนอนี้อย่างไม่ค่อยเต็มใจนักครับ ในขณะที่ Game Boy ของเราทั้งสองกำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก็มีเสียงร้องของเหล่าสัตว์ประหลาดที่กำลังจะจากผู้เล่นคนเก่าไป และสัตว์ประหลาดที่เข้ามาเป็นพวกของเราออกมาให้ได้ยินกันอีกด้วย

คำแนะนำแบบปากต่อปากของบรรดาผู้เล่น ทำให้ Capsule Monster ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาทันที จึงไม่น่าแปลกในครับที่ในระหว่างที่ผมกำลังนั่งรถไฟไปโรงเรียนอยู่นั้น ผมจะพบว่า บรรดาเด็กนักเรียนของโรงเรียนอื่นก็กำลังเปิด Game Boy เพื่อเล่นเกมนี้อยู่เช่นกัน ผมจึงไม่รีรอที่จะเดินเข้าไปหากลุ่มนักเรียนเหล่านั้น เพื่อถามว่า “นี่พวกนาย' date=' เรามีมังกรเขียวกับหิ่งห้อยด้วยนะ พวกนายจับตัวอะไรได้บ้างล่ะตอนนี้? มีตัวไหนที่อยากแลกกับเราไหม?”

ในการให้สัมภาษณ์ของคุณ Tajiri และคุณ Sugimori นั้น ดูเหมือนว่าความตั้งใจในตอนแรกของพวกเขาคือ ทำให้เกม Capsule Monster เป็นเกมแนว RPG รูปแบบใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนครับ

Sugimori: “ในตอนแรกนั้น เกมของเรามีคุณสมบัติมากมายเลยครับที่บ่งบอกว่าเป็น RPG ซึ่งพวกเราเพิ่งมาเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของเกมเป็นการสะสมโปเกมอนให้เต็มสมุดภาพ เอาตอนช่วงพัฒนาเกมนี่ละครับ”

นอกจากนี้แล้ว คุณ Tajiri ยังไม่ได้คิดเอาไว้ก่อนล่วงหน้าอีกด้วยว่าจะทำเกมนี้แยกออกมาเป็นสองภาค หรือมากกว่า เนื่องจากว่า ไอเดียในการแยกเกม เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละคนสามารถจับโปเกมอนได้แตกต่างกัน และนำพวกมันมาแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นเกมภาคอื่นๆ นั้น มาจากความคิดของ Miyamoto ในระหว่างการพัฒนาเกมครับ

Tajiri: “เกม Pokémon ในช่วงแรกนั้นไม่ได้แบ่งออกมาเป็นภาคต่างๆ อย่าง Red และ Green (หรือ Blue ในฉบับภาษาอังกฤษ) หรอกครับ แนวคิดนี้มาจากการปรึกษากับคุณ Miyamoto ครับ”

Miyamoto: “ผมไม่ได้ออกความเห็นนี้เพียงเพราะว่าต้องการให้เรา ขายเกมเดียวกันนี้ได้มากกว่าเดิม 2 หรือ 3 เท่าหรอกนะครับ ผมแค่คิดว่า มันคงจะน่าสนุกกว่าสำหรับผู้เล่น หากว่าผู้เล่นแต่ละคน จะมีเกมที่สามารถจับ Pokémon ที่มีอยู่ได้แตกต่างกัน และนั่นจะทำให้ผู้เล่นแต่ละคนจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน จึงจะสามารถทำตามวัตถุประสงค์ของเกมได้ลุล่วงครับ”

2013063012834-foolboy-capsulemonster_6.jpg

จากภาพ แสดงให้เห็นถึงสัตว์ประหลาดที่จะพบได้ในเกมนี้ จะเห็นได้ว่าพวกมันไม่ได้เป็นเพียงแค่ไอเทมหนึ่งที่จะถูกเรียกมาใช้ในระหว่างการต่อสู้เท่านั้น แต่พวกมันยังเป็นเพื่อนร่วมทางของผู้เล่นในระหว่างการผจญภัยในดันเจี้ยนใต้ดินอีกด้วย

2013063012857-foolboy-capsulemonster_7.jpg

จากภาพ: มุ่งหน้าสู่ท่าเรือ บนหลังของ Lapras (ラプラス)

คุณ Junichi Masuda ได้เคยออกมาให้ความเห็น ถึงบทบาทของ Pokémon ที่มีในแนวคิดของเกมในช่วงต้นเอาไว้ดังนี้ครับ

Masuda:  “ในตอนแรกนั้น เรากำหนดให้ตัวละครฝ่ายผู้ร้ายในเกม กับ Pokémon ของพวกเขานั้น จะมีความสัมพันธ์กันเพียงแค่เจ้านาย และสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่หลังจากที่เราเริ่มแต่งเติมไอเดียของเกมให้กลายเป็นความจริง พวกเราก็ตระหนักว่า มันจะดูดีกว่า หากว่าเราทำให้ Pokémon เป็นเหมือนเพื่อนของพวกเขามากกว่าครับ”

นอกจากนี้แล้ว เรายังได้เห็นถึงบรรดา Pokémon ตัวแรกๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาระหว่างการพัฒนาเกมช่วงต้นๆ อีกด้วย ซึ่งทุกท่านคงจะแปลกใจนะครับที่มันไม่ได้เป็นไปตามลำดับของสมุดภาพโปเกมอน (Pokédex) สักเท่าไหร่เลย (และแน่นอนครับว่าไม่มี Pikachu ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีปรากฏอยู่ในนี้อีกด้วย)

Sugimori: “โปเกมอนตัวแรกๆ ที่พวกเราออกแบบขึ้นมานั้นประกอบไปด้วย Rhydon, Clefairy และ Lapras ครับ ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเกมนั้น เราวางแผนที่จะให้บรรดาโปเกมอน อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างใกล้ชิดครับ และเพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายขึ้น จึงมีโปเกมอนหลายตัวเลยละครับ ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ในโลกของเกมอย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ทำหน้าที่เป็นพาหนะขนส่งสิ่งของและผู้คนข้ามทะเลหรือแม่น้ำบนหลังของมันครับ”

2013063012930-foolboy-131lapras.png

Lapras เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของ Pokémon ที่มีคุณสมบัติดังที่คุณ Sugimori กล่าวมาข้างต้นครับ เราจะพบสิ่งที่หลงเหลือของไอเดียดังกล่าวนี้อยู่ในคำอธิบายของมัน ภายในสมุดภาพโปเกมอนของเกม Pokémon Red ที่กล่าวว่า “พวกมันสามารถขนส่งผู้คน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปบนหลังของพวกมันได้” ถึงแม้ว่า ไอเดียเกี่ยวกับ Pokémon ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ จะไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดนักในช่วง Generation แรกของเกม Pokémon ก็ตาม (ตัวอย่างของฉากในเกม ที่มีโปเกมอนทำงานให้กับมนุษย์ปรากฏให้เห็น เช่น Machop กำลังช่วยเทรนเนอร์ผู้เป็นเจ้าของสร้างบ้านของเขาใน Vermillion City นอกจากนี้แล้ว เหล่าโปเกมอนที่ปรากฏในแบบร่างของคุณ Tajiri นี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในเกมฉบับสมบูรณ์อีกด้วย

2013063013048-foolboy-capsulemonster_8.jpg

จากภาพ: Gousu (ゴース หรือ Gastly ในปัจจุบัน) ปะทะกับ Yadon (ヤドン หรือ Slowpoke ในปัจจุบัน) การต่อสู้ระหว่างสัตว์ประหลาดของผู้เล่นทั้งสองนี้เป็นหนึ่งในฉากที่สำคัญที่สุดของเกม Capsule Monster

คำอธิบายของภาพในหนังสือโครงร่างเกมเล่มนี้ ดูจะขัดแย้งภาพที่ปรากฏให้เราเห็นอยู่บ้างครับ เพราะว่ามันควรจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง Gousu และ Yadoran (ヤドラン หรือ Slowbro ในปัจจุบัน) มากกว่า นั่นแสดงให้เห็นว่า Slowbro นั้น คงจะเคยถูกเรียกว่า “Yadon” ในตอนแรก แต่กลับถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "Yadoran" ในภายหลัง หรือจะเป็นเพราะว่าตอนแรกนั้น ทีมพัฒนาได้สร้าง Slowbro ขึ้นมาแต่เพียงตัวเดียวก่อน แล้วเมื่อเกิดไอเดียเกี่ยวกับ Slowpoke ขึ้นมาในภายหลัง เจ้า Slowpoke จึงแย่งเอาชื่อของ Slowbro (Yadon) แต่ดั้งเดิมไปใช้แทน?

2013063013137-foolboy-spr_rg_sabrina.png

ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นอีกเช่นกันนะครับว่า เทรนเนอร์ผู้เป็นเจ้าของ Gastly นั้นได้ถือแส้เอาไว้ในมือด้วย นั่นหมายความว่า เหล่าเทรนเนอร์ในช่วงต้นของการพัฒนาเกมนั้น สามารถมีส่วนร่วม ในการต่อสู้ระหว่างโปเกมอนเองได้ด้วยอย่างนั้นหรือ? เรายังสามารถพบเห็นเทรนเนอร์ผู้ถือแส้หรือว่าอาวุธได้ในเกมฉบับสมบูรณ์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Team Rocket, Rocker, Tamer รวมทั้งหัวหน้ายิมอย่าง Sabrina (ナツメ) เป็นต้น

Sugimori: “ในช่วงหนึ่งนั้น แน่นอนครับว่าเหล่าตัวร้ายของเกมก็มีความสามารถในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนั้นแล้วเราก็ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ‘ถ้าพวกเขาสามารถต่อสู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว แล้วพวกโปเกมอนจะมีประโยชน์อันใดเล่า?’”

มันคงจะดูตลกน่าดูเลยละครับ ถ้าเกิดเหล่าเทรนเนอร์ต้องมาแลกหมัดกันเองในการต่อสู้ และ “ความรุนแรงอย่างไร้จุดหมาย” ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคุณ Tajiri ตั้งแต่แรกแล้ว (ไม่อย่างนั้นคงมีหวังต้องโยน Game Boy ทิ้ง แล้วแลกหมัดกับผู้เล่นตรงนั้นแน่ๆ เลยครับ 55)

2013063013243-foolboy-capsulemonster_9.jpg

จากภาพ: Karabajio ปะทะ Mimii ภาพวาดของ Sugimori นี้ แสดงให้เห็นถึงฉากการต่อสู้ของสัตว์ประหลาดในเกม Capsule Monster ซึ่งดูสมจริงมาก

2013063013631-foolboy-blastoiseandstaryu.png

สัตว์ประหลาดทั้งสองตัวนี้ กลายมาเป็น Blastoise (カメックス) และ Staryu (ヒトデマン) ตามลำดับ ในเกมฉบับสมบูรณ์ครับ โดยรูปลักษณ์ของพวกมัน ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Link to comment
Share on other sites

2013063014225-foolboy-capsulemonster_10.jpg

จากภาพ: แสดงให้เห็นถึงโลกในเกม ซึ่งผู้คนอยู่ร่วมกับสัตว์ประหลาดอย่างใกล้ชิด บางตัวทำหน้าที่เป็นลูกหาบช่วยขนของให้กับเหล่านักเดินทาง คอยเดินตามผู้คนที่เป็นเจ้าของ หรือไม่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ที่นอนอยู่ในกรง

โปเกมอนที่ปรากฏตัวให้เห็นในการพัฒนาเกมช่วงแรกๆ นั้น มีจำนวนมากเลยทีเดียวนะครับ ที่ดูเหมือนจะเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งข้อสังเกตนี้ก็ได้รับคำยืนยันจากคุณ Sugimori เช่นเดียวกันครับ

Sugimori: "โปเกมอนที่ผมออกแบบขึ้นมาในตอนแรกๆ นั้น มีส่วนที่คล้ายคลึงกับเหล่าไดโนเสาร์มากเลยละครับ มากกว่าที่พวกคุณจะได้พบเห็นในเกมฉบับสมบูรณ์เสียอีก"

2013063021226-foolboy-115kangaskhan.png

ใน Pokémon Red และ Green นั้น นอกเหนือจากตัวเลขในสมุดภาพโปเกมอนแล้ว โปเกมอนทุกตัวยังจะถูกกำหนดด้วย “ดรรชนี” (Index Number) ซึ่งจะบ่งบอกว่า พวกมันถูกเก็บเอาไว้ที่ตำแหน่งไหน ในหน่วยความจำของตลับ Game Boy อีกด้วย ซึ่งหมายเลขพวกนี้ ดูจะบ่งบอกเป็นนัยๆ ถึงลำดับการใส่โปเกมอนตัวดังกล่าวเข้ามาในเกม ของทีมพัฒนา เป็นต้นว่า Rhydon, Clefairy และ Lapras ที่คุณ Sugimori ได้กล่าวไว้ว่ามันเป็นโปเกมอนตัวแรกๆ นั้น ก็อยู่ในลำดับของดรรชนีที่ 1, 4 และ 19 ตามลำดับเช่นกัน (ส่วน Pikachu พระเอกของเรา อยู่ลำดับที่ 84) แต่ทว่า เนื่องจากหน่วยความจำของตลับ Game Boy นั้นมีจำกัดมากๆ ทำให้โปเกมอนบางตัวที่ถูกเพิ่มเข้าไปก่อนหน้านี้ต้องถูกลบออกไป ก่อให้เกิดเป็นช่องว่างของข้อมูล ซึ่งเรียกต่อกันมาว่า MissingNo. นั่นเอง แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกันครับ นั่นคือ Mew (ミュウ) ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นโปเกมอนตัวสุดท้ายที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกม (อย่างลับๆ) แต่ว่า ช่องว่างของข้อมูลที่สามารถใส่ Mew เข้าไปได้พอดีนั้น เหลือแค่เพียงช่องเดียวเท่านั้น คือ หมายเลข 21 ครับ

2013063014412-foolboy-capsulemonster_11.jpg

จากภาพ: อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่จะเราจะพบในเกม Capsule Monster ก็คือ การแลกเปลี่ยนสัตว์ประหลาดกันระหว่างผู้เล่น ซึ่งภาพนี้แสดงให้เห็นว่า การเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนสัตว์ประหลาดกันนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนุกแค่ไหน

“สนใจจะแลกเจ้าตัวที่อยู่ในมือพี่นี้ไหมจ๊ะ น้องสาว?”

“แลกกับ Nidoran ของชั้นอย่างงั้นเหรอ? อย่ามาตลกหน่อยเลยน่านาย!”

2013063014437-foolboy-capsulemonster_12.jpg

201306301452-foolboy-capsulemonster_13.jpg

2013063014522-foolboy-capsulemonster_14.jpg

การแลกเปลี่ยนโปเกมอนกันผ่านสาย Link Cable ของ Game Boy นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของเกมนี้ และเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เกมนี้ฮิตติดลมบนมาได้ตั้งแต่แรกครับ ทีมพัฒนาจึงใส่ใจอย่างมากกับการออกแบบวิธีการแสดงผล ในการแลกเปลี่ยนโปเกมอนระหว่างผู้เล่น โดยอยากให้ผู้เล่นมองว่าพวกมันคือสิ่งที่มีชีวิตจิตใจจริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่วิ่งไปตามสายเท่านั้น

2013063014552-foolboy-capsulemonster_15.jpg

2013063014642-foolboy-capsulemonster_16.jpg

จากภาพ: การเช็คอินเข้าพักในโรงแรมของผู้เล่น นี่เป็นวิธีการหลักในการฟื้นฟูผู้เล่นและเหล่าสัตว์ประหลาดที่ได้รับบาดเจ็บ และเหนื่อยอ่อนจากการผจญภัยในดันเจี้ยน ของเกม Capsule Monster เพราะว่าในห้องพักแต่ละห้องนั้น จะมีเครื่องมือพิเศษที่สามารถฟื้นฟูให้เหล่าสัตว์ประหลาดกลับมาแข็งแรงได้ดังเดิมทันที แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในโลกของเกม ที่ก้าวล้ำไปกว่าโลกที่เรารู้จักมาก

201306301480-foolboy-pokemon_center_inside_rby.png

Pokémon Center ที่พวกเรารู้จักกันในเกมฉบับสมบูรณ์นั้น ก็ดูคล้ายคลึงกับโรงแรมอยู่มากเลยทีเดียวนะครับ ส่วนใน  Anime นั้นคงไม่ต้องกล่าวถึง เพราะว่าพวกซาโตชินั้น นอนค้างกันที่ Pokémon Center อยู่บ่อยครั้งมากเลยครับ

2013063014822-foolboy-celadon_hotel_rby.png

2013063014856-foolboy-54-capture_16042010_133819.png

และจะว่าไปแล้ว ก็มีโรงแรมอยู่ในเกม Pokémon ภาคแรกที่ออกมาด้วยจริงๆ ครับ อยู่ที่เมือง Celadon City นั่นเอง ซึ่งดูเผินๆ แล้ว โรงแรมแห่งนี้ก็แทบจะมีการจัดวางตำแหน่งของสิ่งของต่างๆ ไม่ต่างจากที่มีอยู่ใน Pokémon Center เลยใช่ไหมครับ? แถมในโรงแรมแห่งนี้ก็มีดันมีเครื่อง PC ที่ถูกแอบซ่อนเอาไว้ ตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับที่มีอยู่ใน Pokémon Center อีกด้วย แต่ทว่า Bug นี้ก็ได้รับการแก้ไขใน Pokémon Yellow เป็นต้นมาครับ

2013063015052-foolboy-capsulemonster_17.jpg

จากภาพ: อุปกรณ์ที่ใช้ในการจับสัตว์ประหลาดในเกม ซึ่งต่อมาเรียกว่า Pokéball นี้ ในตอนแรกนั้น มันถูกเรียกว่า Monster Capsule™ ซึ่งคุณ Tajiri นั้น ใส่ใจกับรายละเอียดมาก ถึงขนาดตั้งรหัสโมเดลของอุปกรณ์ดังกล่าว  (Portable Monster Capsure PCM-55R) และราคา ($198.00) เอาไว้ล่วงหน้าอีกด้วย

โฮ่ ทำไม Pokéball ลูกหนึ่งมันถึงได้แพงขนาดนี้ครับนี่?

ในเกม Pokémon ภาคภาษาอังกฤษนั้น ราคาของไอเทมต่างๆ ที่มีอยู่ในเกม จะถูกกำหนดอยู่ในหน่วยของ 2013063015714-foolboy-pokemondollar_i.png ซึ่งเรียกว่า โปเกดอลล่าร์ (Pokédollar) ส่วนในเกมภาคภาษาญี่ปุ่นนั้น จะถูกกำหนดอยู่ในหน่วย 円 หรือเยน ดังนั้นแล้ว หนึ่งเยน หรือหนึ่งโปเกดอลล่าร์ จึงมีค่าเท่ากับ 1 เซ็นต์ (cent) ของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในสมัยนั้น ถ้าเกิดราคาของ Pokéball คุณ Tajiri กำหนดเอาไว้อยู่ในหน่วยของโปเกดอลล่าร์แล้วละก็ มันก็ดูไม่แพงสักเท่าไหร่หรอกครับ

2013063015420-foolboy-capsulemonster_18.jpg

201306301551-foolboy-capsulemonster_19.jpg

ส่วนชื่อของ Kabiin ที่ปรากฏอยู่ใน Storyboard การจับสัตว์ประหลาดในเกมด้านบนนี้ ซึ่งต่อมา กลายเป็นต้นแบบของ Kabigon (カビゴン หรือ Snorlax มีที่มาจากชื่อของโปรแกรมเมอร์ในทีมพัฒนาเกมนี้ นั่นก็คือคุณ Koji Nishino นั่นเอง (และดูเหมือนว่า พวกเขาจะลอกเอาคุณลักษณะเด่นของ Snorlax มาจากคุณ Nishino อีกด้วยครับ)  ซึ่งที่มาของชื่อ Kabigon ในภาษาญี่ปุ่นนี้ มาจากความจริงที่ว่ามันสามารถกินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า รวมทั้งพวกเห็ดรา (Kabi: カビ: 黴) ที่เติบโตอยู่บนของเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งตัวของมันเองด้วย แต่ผมคิดว่า คุณ Nishino คงจะไม่ชอบใจกับแนวคิดนี้สักเท่าไหร่หรอกนะครับ

201306302044-foolboy-capsulemonster_20.jpg

จากภาพ: การจับสัตว์ประหลาดในดันเจี้ยน หรือว่าแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นคนอื่นนั้น ดูจะไม่ใช่วิธีการเดียวในการค้นหาสัตว์ประหลาดตัวใหม่ๆ ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเกม จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าผู้เล่นสามารถซื้อสัตว์ประหลาดตัวใหม่ๆ ได้จากร้านขายของเช่นกัน?

“ลุงครับ ผมขอซื้อเจ้าตัวนี้หน่อยสิครับ”

“นี่หนู ฉันไม่คิดว่าเธอจะสามารถควบคุมเจ้า Lapras นั่นได้ในตอนนี้หรอกนะ”

แนวคิดที่ว่า ผู้เล่นต้องมีคุณสมบัติที่สูงพอก่อน จึงจะสามารถควบคุมโปเกมอนที่มีระดับพลังสูงขึ้นไปได้นั้น แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในรูปข้างบนนี้ครับ เหมือนกับตอนที่ซาโตชิ ไม่สามารถควบคุมลิซาด้อนของตัวเอง ใน Anime นั่นเองครับ

201306302144-foolboy-suspiciouspokemon5.jpg

แต่ทว่า ไอเดียในการซื้อโปเกมอนในเกมนั้น กลับถูกลดความสำคัญลงไปในเกมฉบับสมบูรณ์ครับ คงเหลือแต่เพียง การแลกเปลี่ยนของรางวัลเป็นโปเกมอน ในร้าน Game Corner ที่เมือง Celadon City นั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ก็มีเพียงแค่มีนักต้นตุ๋น ที่มาหลอกขาย Magikarp (コイキング) ในราคา 500 โปเกดอลล่าร์เท่านั้น

201306302341-foolboy-capsulemonster_21.jpg

[table][tr][td]Number:[/td][td]124[/td][/tr][tr][td]Name:[/td][td]Dragon 4[/td][/tr][tr][td]HP:[/td][td]200[/td][/tr][tr][td]TP:[/td][td]200[/td][/tr] [tr][td]Level:[/td][td]47[/td][/tr] [tr][td]Attack:[/td][td]100[/td][/tr] [tr][td]Speed:[/td][td]75[/td][/tr] [tr][td]Intelligence:[/td][td]28[/td][/tr] [tr][td]Defense:[/td][td]125[/td][/tr] [tr][td]Special Attack:[/td][td]Fire Breath (TP – 20)[/td][/tr] [tr][td]Value:[/td][td]128,000 Gold[/td][/tr] [/table]

มาดูต่อกันที่เมนูแสดงสถานะ (Stat) ของสัตว์ประหลาดครับ อย่างที่ท่านผู้อ่านคงจะได้เห็นในแนวคิดของร้านขายโปเกมอนแล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่องของเงินกับ Pokémon ดูจะเป็นสิ่งที่ทีมพัฒนาเกม ให้ความสำคัญมากทีเดียวในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม คุณ Tajiri กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเวลาต่อมาครับ

Tajiri: “ผมตั้งใจเอาไว้ว่า จะอนุญาตให้ผู้เล่นสามารถแลกเปลี่ยนโปเกมอนกัน โดยตกลงราคากันก่อน และส่งเงินออกไปพร้อมกับโปเกมอนดังกล่าวได้ แต่ในที่สุดแล้ว ผมก็ล้มเลิกแนวคิดดังกล่าวไปในเกมฉบับสมบูรณ์ครับ เพราะมันคงจะไม่ได้ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกกับเกมเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เผลอๆ ผู้เล่นคงจะเครียดมากกว่าเดิมด้วยละครับ”

201306302557-foolboy-hqdefault.jpg

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่แตกต่างออกไปจากในเกมฉบับสมบูรณ์ก็คือ ค่าคุณสมบัติ Special ซึ่งในภาพกลับกลายเป็นค่า Intelligence ส่วนท่า Fire Breath ซึ่งเป็นท่าที่มีอยู่เพียงท่าเดียวในสัตว์ประหลาดตัวนี้ จะใช้ค่า TP ซึ่งน่าจะย่อมาจาก Technical Point ในการใช้งานท่าดังกล่าว ซึ่งจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเกมฉบับสมบูรณ์เช่นกัน ที่จะกำหนดให้ท่าแต่ละท่านั้น จะมีจำนวน Power Point (PP) ที่ระบุเอาไว้ว่า โปเกมอนตัวดังกล่าว จะสามารถใช้ท่านั้นๆ ได้จำนวนกี่ครั้ง ก่อนที่จะต้องกลับไปฟื้นฟูร่างกายที่ Pokémon Center หรือใช้ไอเทมที่สามารถเพิ่มค่า PP ขึ้นมาได้ แต่ทว่าค่า TP ที่แสดงให้เห็นในไอเดียเริ่มต้นนี้ เป็นค่าที่ผูกติดกับสัตว์ประหลาดตัวดังกล่าวเลย ซึ่งไม่ว่าผู้เล่นจะสั่งให้สัตว์ประหลาดตัวดังกล่าวใช้ท่าใดก็ตามในการต่อสู้ ท่านั้นก็จะหักค่า TP ออกไปจากจุดนี้นั่นเองครับ

201306302619-foolboy-capsulemonster_21_2.jpg

[table][tr][td]Gojirante[/td][td][/td] [td]Goriraimo[/td] [/tr] [tr][td]HP: 400[/td][td]VS.[/td] [td]HP: 500[/td] [/tr] [tr][td]TP: 27[/td][td][/td] [td]TP: 10[/td] [/tr] [/table]

ส่วนภาพข้างบนนี้ แสดงให้เห็นถึงฉากการต่อสู้ของสัตว์ประหลาดในเกมครับ ซึ่งในตอนนั้น ยังไม่มีแถบหลอดพลังชีวิต หรือ HP ของสัตว์ประหลาดแต่ละตัวปรากฏให้เห็น เรื่องของการแสดงผลลัพธ์ในการต่อสู้นี้ เป็นสิ่งที่ทีมพัฒนาเกมในช่วงต้นใคร่ครวญกันหนักมากพอดูเลยละครับ

Masuda: “วิธีการทำงานของ GAME FREAK อย่างหนึ่งก็คือ เราจะพยายามเสาะหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อมาหักล้างสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ได้อยู่เสมอครับ ตัวอย่างเช่น ในช่วงหนึ่งนั้น เราได้ลองเอาแถบแสดงพลังชีวิตของโปเกมอนออกไปครับ แล้วในระหว่างการต่อสู้ เราก็แสดงผลลัพธ์ของการโจมตีออกมาเป็นคำพูดแทน เช่น ‘อูยย เจ็บน่าดูเลยนะนั่น’ เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่ามุขแป้กครับ มันไม่ช่วยให้เกมสนุกขึ้นสักเท่าไหร่ เราก็เลยหันกลับไปใช้เป็นหลอดพลังอย่างเดิมดีกว่า”

201306302757-foolboy-capsulemonster_22.jpg

201306302824-foolboy-capsulemonster_23.jpg

201306302840-foolboy-capsulemonster_24.jpg

201306302858-foolboy-capsulemonster_25.jpg

ส่วนฉากการต่อสู้ของ Nidorino และ Gengar ซึ่งถือเป็นฉากเปิดตัวในตำนานของเกม Pokémon Red นั้น ทีมพัฒนาเกมได้พยายามอย่างมากเลยทีเดียวครับ ที่จะทำให้มันตรงกับที่คุณ Tajiri จินตนาการเอาไว้มากที่สุด

Sugimori: “ผมและทีมงานได้ออกแบบฉากการเปิดตัวเกม Pokémon เอาไว้กว่า 10 แบบเลยละครับ เผื่อเอาไว้ก่อน”

201306302956-foolboy-capsulemonster_26.jpg

ปิดท้ายกันด้วยภาพนี้ครับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแผนที่โลกในเกม Capsule Monster ถึงแม้ว่าหมายเลขที่แสดงถึงเส้นทางระหว่างเมืองนั้นจะแตกต่างออกไปบ้าง แต่ว่าลำดับที่ของเมืองนั้น กลับตรงกับในเกมฉบับสมบูรณ์เป๊ะเลย จะมีข้อยกเว้นก็ตรงที่ตำแหน่ง C อันลึกลับ ซึ่งนี่อาจจะเป็นคำอธิบายว่า ทำไมถึงมีสถานที่ลึกลับที่ซ่อนตัวอยู่ ในเกม Pokémon Red ที่มาถูกผู้เล่นค้นพบเอาในภายหลังครับ

2013063021033-foolboy-kanto_town_map_rby.png


โปเกมอนนั้น ถือได้ว่าเป็นเกมหนึ่งเลยละครับ ที่มีประวัติศาสตร์ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในวงการเกมมาอย่างยาวนาน และได้รับการเพิ่มเสริม เติมแต่ง และปรับปรุงมาโดยตลอด จนกระทั่งกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาได้จนถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากนะครับ ที่ผู้คนเพียงแค่ไม่กี่คน กับแนวคิดเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญเช่นนี้ จะกลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่มาเขย่าวงการเกมที่เรารู้จักไปตลอดกาล และผมยังเชื่อมั่นอีกด้วยครับว่า โปเกมอน จะยังคงสามารถนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่น่าทึ่งให้กับเหล่าผู้เล่น ผู้ซึ่งกระหายความแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างต่อเนื่องเรื่อยไปครับ

สุดท้ายนี้ บทเรียนอย่างหนึ่งที่เราได้รับ จากการดูผลงานที่คุณ Tajiri ทิ้งเอาไว้ก็คือ หากว่าเรามีไอเดีย หรือว่าแนวคิดอะไรก็ตามที่เราอยากจะทำมันขึ้นมาแล้วละก็ จงอย่ากลัวที่จะล้มเหลวครับ ขอแค่เรากล้าที่จะทำมันขึ้นมาเท่านั้น ไม่ว่ามันจะแปลกหรือแหวกแนวสักแค่ไหน แต่ถ้าหากเรามีความมานะพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่พบเจอแล้วละก็ ผมเชื่อว่าทุกคนต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนครับ สู้ๆ ครับทุกท่าน

:pokeball: เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย

http://www.techhive.com/article/2043228/nintendo-warns-against-super-pokemon-creator-app.html

http://www.officialnintendomagazine.co.uk/51634/pokemon-game-show-coming-to-japan-in-august

http://bulbapedia.bulbagarden.net/wiki/Capsule_Monsters

http://bulbapedia.bulbagarden.net/wiki/History_of_Pok%C3%A9mon

http://bulbapedia.bulbagarden.net/wiki/Prototype_Pok%C3%A9mon_and_characters

http://en.wikipedia.org/wiki/Pok%C3%A9mon_Red_%26_Blue

http://www.glitterberri.com/pokemon-red-blue/early-concept-art

http://www.unseen64.net/2009/02/04/pokemon-red-blue-beta

http://www.officialnintendomagazine.co.uk/42565/15-amazing-pokemon-facts-and-secrets

http://www.gamesradar.com/pockets-and-monsters-history-pokemon-games

http://www.taringa.net/posts/imagenes/14638070/Capsule-Monsters-Concepto-original-de-Pokemon.html

Link to comment
Share on other sites

เป็นบทความที่โหดที่สุดที่เคยอ่านมาเลยครับ = =

ไม่นึกว่า Pocket Monster จะเคยเป็น Capsule Monster ที่มีแนวคิดแบบนี้

มีหลายๆอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ Gen แล้วแบบนี้อันไหนกันนะที่คุณซาโตชิคาดหวังเอาไว้จริงๆ

Link to comment
Share on other sites

สุดยอดเลย รอบนี้ยาวกว่าทุกรอบเลย

เป้นต้นกำเนิดที่ยาวนานจริงๆ  :pika03:

Link to comment
Share on other sites

Capsule Monster อันนี้ชื่อเหมือนกันกับยูกิตอนช่วงนึงใช่มะครับ ชื่อคุ้นๆ

Link to comment
Share on other sites

ใช่แล้วครับ เหตุผล​หนึ่งที่ Capsule Monster ต้องถูกเปลี่ยนชื่อในภายหลังก็เพราะว่า​ติดเรื่องลิขสิทธิ์​ด้วยน่ะครับ​

โดยในตอนแรกนั้น ตั้งชื่อว่า Capumon ก่อน แต่ดูเหมือนว่าชื่อจะไม่ค่อยติดหูสักเท่าไหร่ ต่อมา ในระหว่างช่วงการพัฒนา​เกม จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า Pocket Monster ครับ

Link to comment
Share on other sites

สุดยอดเลยครับ อ่านแล้วคุ้มค่าจริงๆ เกม pokemon นี่มีประวัติศาสตร์ยาวนานพอดูเลยนะเนี่ย

Link to comment
Share on other sites

โอ้ เคยรู้คร่าวๆ แต่พอรู้แบบละเอียดแล้วรู้สึกว่ามันมีสเน่ห์พิกลๆ

Link to comment
Share on other sites

Please sign in to comment

You will be able to leave a comment after signing in



Sign In Now
  • Recently Browsing   0 members

    • No registered users viewing this page.
×
×
  • Create New...

Important Information

By using this site, you agree to our Terms of Use and Privacy Policy. We have placed cookies on your device to help make this website better. You can adjust your cookie settings, otherwise we'll assume you're okay to continue.