Jump to content
We are currently closing new member registration for the time being. We apologize for the inconvenience. ×

จะเป็นอย่างไรถ้า Pokémon กลายมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนของทุกคน?


Foolboy

Recommended Posts

trainerschool.jpg

April’s Fools! เฮ้ย ไม่ช่ายยยย = =’ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ? ผมกะเอาไว้แล้วเชียวครับ พอมาถึงวันแรกของเดือนเมษายนทีไรก็ต้องเป็นแบบนี้กันทุกที ไม่ว่าจะเป็นข่าวร่างพัฒนา Pokémon ใหม่เอย ข่าวตัวละครหลักถูกปลดเอย หรือว่าข่าวที่มีคนถ่ายติดวิญญาณที่สนามบินสุวรรณภูมิเอย (นั่น วอนเข้าตะรางซะแล้วเรา)

เอาเป็นว่าเรามารอคอยให้ถึงวันมีตติ้งครั้งที่ 8 ของบอร์ดเรา กันดีกว่าครับ ซึ่งตามเวลาของบ้านเราแล้วก็จะตรงกับวันประกาศข่าวคราวใหม่ๆ ของ Pokémon X และ Pokémon Y อย่างเป็นทางการ ตามที่ Official Fan Page และเว็บไซต์ของ Pokémon ได้มีการกล่าวถึงเอาไว้ ซึ่งในครั้งนี้ คุณ Junichi Masuda หัวหน้าฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์เกม, กรรมการผู้บริหารของ GAME FREAK  และโปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์เกม Pokémon X และ Pokémon Y จะเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวด้วยตัวเอง ผ่านทางรายการ Pokémon Smash ที่จะออกอากาศในวันดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเองครับ

ในเมื่อยังไม่มีข่าวอะไรมากในช่วงนี้ เรามาลองอ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Pokémon กันเล่นๆ กันต่อดีกว่าครับ สำหรับการแปลและเรียบเรียงบทความครั้งนี้ผมต้องขอขอบคุณ เทพโกดั๊กในไส้อั่ว แอดมินเป็ดของบอร์ดนี้ที่พวกเราทุกคนคุ้นเคยกันดี ที่ช่วยแนะนำบทความดีๆ นี้มาให้แก่ผม, คุณ bulbabenz ซึ่งส่งต่อบทความนี้มายังแอดมินเป็ดอีกที รวมทั้ง ศจ. Professor Perth ที่ช่วยตรวจทาน และปรับปรุงเนื้อหาของบทความให้มีความถูกต้องมากขึ้น เอาไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

หมายเหตุ: เนื่องจากบางส่วนของข้อมูลที่ผมจะนำมากล่าวถึงในบทความต่อไปนี้มีที่มาจากบทความในวารสารทางวิชาการที่มีการตีพิมพ์ในต่างประเทศ และถูกคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องทำการเรียบเรียงเนื้อหาที่ถูกคุ้มครองดังกล่าวให้เป็นภาษาของผมเอง ไม่สามารถเผยแพร่เนื้อหาหรือข้อความที่ถูกคุ้มครองดังกล่าวโดยตรงได้ครับ รวมทั้งไม่อาจให้ที่มาของบทความฉบับเต็มดังกล่าวเอาไว้ในบรรณานุกรมท้ายบทความนี้ได้ เนื่องจากบทความทางวิชาการดังกล่าวจะต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ หรือเป็นสมาชิกของวารสารดังกล่าวเท่านั้นครับ จึงจะมีสิทธิ์อ่านได้


ทั่วทุกมุมโลก เราทุกคนคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เด็กๆ หลายล้านคน ต่างก็ชื่นชอบและหลงรัก Pokémon กันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่อีกเป็นจำนวนมากที่เติบโตมาพร้อมกับการเล่นเกม หรือดูการ์ตูนเรื่องนี้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านภาษาและวัฒนธรรมมาขวางกั้น ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา Pokémon ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่ทุกคนต้องเรียกติดปาก ในฐานะหนึ่งในแฟรนไชส์ของเกมและการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ความน่าสนใจของเกม Pokémon ไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมให้เด็กๆ มีจินตนาการและความคิดที่สร้างสรรค์เท่านั้น ความสลับซับซ้อนของกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกของระบบต่างๆ ที่มีอยู่ในเกม Pokémon ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดหนึ่งที่จะนำเกม Pokémon นี้มาเป็นสื่อการเรียนการสอนหนึ่งในห้องเรียนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเรียนชั้นประถม ไม่น่าเชื่อเลยครับว่าแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นมาจากหัวของนักวิจัยระดับดอกเตอร์ และที่สำคัญ แนวคิดนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการของสถาบันระดับแนวหน้าอย่าง IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers: สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นสถาบันผู้อยู่เบื้องหลังมาตรฐานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย อย่างเช่นเทคโนโลยี Wi-Fi ที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเองครับ

Dr. Yu-Hong Lin จาก Department of Multimedia Design, Chihlee Institute of Technology ประเทศไต้หวัน ได้สร้างแนวคิดนี้ขึ้นมาจากความจริงที่ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างก็ได้รับการสืบทอดความสามารถที่จะเอาตัวรอดในโลกอันแสนวุ่นวายนี้ผ่านทางการสำรวจและค้นหา เมื่อเราเกิดไปประสบกับอุปสรรคหรือภยันตรายใดๆ เราจะพิจารณาถึงวิธีการทุกรูปแบบ ในการที่จะผ่านอุปสรรคหรือเอาตัวรอดจากอันตรายดังกล่าวได้ และด้วยสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้เราสามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ และสิ่งต่างๆขึ้นมาเพื่อช่วยให้การดำรงชีวิตของเราง่ายขึ้น” ใช่แล้วครับ เราทุกคนต่างมีความสามารถอันน่าทึ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ในการแก้ปัญหาใดๆก็ตามไม่ว่ามันจะง่ายดายหรือซับซ้อนเพียงใด นั่นทำให้เราแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่น และทำให้มีเราอาศัยอยู่แทบจะทุกส่วนของโลกในเวลาเพียงไม่กี่หมื่นปีเท่านั้น

อุปกรณ์หนึ่งที่เราคิดค้นขึ้นมา และเรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเราก็คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่น่าทึ่งที่เรานำมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราในแทบทุกด้าน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ มุมมองของเราต่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ในฐานะของเครื่องมือที่ช่วยสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารอันไม่มีที่สิ้นสุด หรือแม้แต่การพักผ่อนหย่อนใจ ดังจะเห็นได้ว่า เราทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ PC หรือไม่ก็ Smartphone กันทั้งนั้นใช่ไหมครับ และแน่นอน ทุกคนต่างก็ต้องเคยเล่นเกมบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เหล่านี้กันบ้างไม่มากก็น้อย Dr. Yu ได้กล่าวว่า “ในการฝึกของทหารสหรัฐฯ ทหารจะต้องฝึกเล่นเกมยิงปืนกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อเพิ่มพูนความเป็นทีมเวิร์คก่อนที่จะออกไปสู่สมรภูมิรบจริงๆ และมีการใส่ AI ลงไปเพื่อฝึกฝนการปฏิบัติตามยุทธวิธีอีกด้วย ในบางกรณี จะมีการใส่เหตุการณ์จำลองจากสถานการณ์จริงลงไปในระบบด้วย เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามอิรัก ทั้งนี้ เนื่องจากเหล่าทหารต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การเล่นเกมนั่นเข้าใจได้ง่ายกว่าการนั่งอ่านรายงานเป็นไหนๆ” เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่การฝึกฝนที่จริงจังอย่างการฝึกทหาร ยังมีการใช้เกมมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเลยครับ ดังนั้นแนวคิดเรื่องการใช้เกมมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นต้องไม่ใช่เรื่องใหม่แน่ๆ แต่ว่าทำไมต้องเป็น Pokémon ล่ะ?

Pokémon ได้รับการยอมรับกันโดยกว้างขวางว่าเป็น Series ของเกมและการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง ด้วยยอดขายของเกมทุกเกมรวมกันมากกว่า 200 ล้านชุดทั่วโลก (ไม่รวมของปลอมนะ อิอิ) ตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 และถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งของวงการเกมเลยทีเดียว เพราะว่าทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์กันระหว่างผู้เล่นต่างเพศ ต่างวัย และต่างชนชาติ กันอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากเนื้อหาของเกมและเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกใจบรรดาผู้เล่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Dr. Yu ได้กล่าวถึงเอาไว้ก็คือ ความสลับซับซ้อนของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในระบบของเกม ซึ่งต้องอาศัยทักษะการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ของเราจึงจะสามารถบรรลุปัญหาต่างๆ ที่เกมได้ตั้งเอาไว้ได้ อีกทั้งเกมนี้ยังได้ถูกพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีด้วยกันหลายต่อหลายภาค จึงทำให้มีผู้เล่นเกมนี้อยู่ในทุกระดับชั้น ไม่กระจุกตัวกันอยู่เพียงแค่บางชั้นเรียน ซึ่งความซับซ้อนของระบบนี่เองที่ทำให้ Dr. Yu เกิดแนวคิดที่จะนำเกม Pokémon มาเป็นสื่อการเรียนการสอนของเด็กๆ ชั้นประถม โดยเขาได้ยกตัวอย่างถึงวิชาคณิตศาสตร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสื่อการเรียนการสอนชนิดใหม่นี้ได้

Dr. Yu ได้กล่าวว่า “ในเกมนี้ ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นเทรนเนอร์ ซึ่งจะต้องทำการจับและสะสม Pokémon หลากหลายประเภท และจะต้องฝึกฝนพวกมันให้พร้อมในการต่อสู้ ผู้เล่นจะมีแหล่งรายได้หลักมาจากการแข่งขันต่อสู้ Pokémon ชนะเทรนเนอร์คนอื่น รายได้นี้จะถูกนำมาใช้เพื่อซื้อมอนสเตอร์บอล เพื่อจับ Pokémon ที่แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้ง Item ต่างๆ สำหรับใช้กับ Pokémon ของตัวเอง เช่น เวลาบาดเจ็บ หรือเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ จุดมุ่งหมายของเกมนี้ก็คือ เอาชนะหัวหน้า Gym ของแต่ละเมืองเพื่อชิงเข็มกลัดมา เพื่อที่จะทำให้เรามีโอกาสลงแข่งในรายการแข่งขันครั้งใหญ่ของเขตดังกล่าว และคว้าแชมป์มาครองให้ได้โดยการเอาชนะแชมเปี้ยนของเขตนั้นๆ

ในการที่จะพิชิตจุดมุ่งหมายที่เกมได้ตั้งเอาไว้ กลยุทธ์ต่างๆ ในการต่อสู้กับเทรนเนอร์แต่ละคนจึงต้องถูกวางเอาไว้ล่วงหน้า ผู้เล่นควรจะต้องทราบและเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของระบบเกมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด เป็นต้นว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ท่าต่อสู้ของ Pokémon  โดยคำนึงถึงประเภทของ Pokémon ที่ตนเองใช้ รวมทั้งประเภทของ Pokémon คู่ต่อสู้ เมื่อเราต้องประมือกับเทรนเนอร์คนใด เราควรจะต้องคาดเดาเอาไว้ล่วงหน้าว่าเขาจะใช้ Pokémon ประเภทใด เพื่อที่เราจะสามารถเตรียมรับมือ โดยเลือกใช้ Pokémon ที่มีความได้เปรียบมากกว่ามาประลองด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีการคิดถึงสถานะต่างๆ ที่เราอาจเลือกใช้มันกับคู่ต่อสู้ก่อนที่จะโจมตีได้ด้วย เช่น หากสามารถทำให้ Pokémon คู่ต่อสู้ติดอาการชา (Paralyzed) ก่อน ความว่องไวของคู่ต่อสู้ก็จะลดลง ซึ่งจะส่งผลให้คู่ต่อสู้ไม่อาจหลบหลีกการโจมตีของเราได้ และเปิดโอกาสให้เราโจมตีคู่ต่อสู้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น”

Dr. Yu ได้ยกตัวอย่างของหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ของชั้น ป. 1 – ม. 3 (Grade 1 – 9) ในประเทศไต้หวันว่ามีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อดังต่อไปนี้

1. ตัวเลขและจำนวน

2. พีชคณิตเบื้องต้น

3. สถิติ

4. ความน่าจะเป็น

ชั้น ป. 1- ป. 3 ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของหลักสูตรนี้ นักเรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหมายของตัวเลขและจำนวน รวมทั้งจะต้องทราบความแตกต่างระหว่างตัวเลขสองจำนวนและเปรียบเทียบค่าของมันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือค่า Hit Point (HP) หรือพลังชีวิตของ Pokémon  ในการต่อสู้แต่ละครั้ง นักเรียนจะสามารถเลือก Pokémon ที่มีพลังชีวิตมากที่สุด (หรือมีพลังชีวิตเหลืออยู่มากที่สุด เมื่อเทียบกับตัวอื่น) ออกมาใช้ในการต่อสู้ได้ รวมทั้ง Level ของ Pokémon ที่เราเลือกออกมาก็ควรจะต้องสูงกว่า Pokémon ของคู่ต่อสู้ด้วย ด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ว่านักเรียนจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธาตุ หรือปัจจัยอื่นๆ ของ Pokémon  ก็ยังพอที่จะคาดเดาผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้นๆ ได้

ถัดมาเมื่อเข้าสู่ชั้น ป. 4 – ป. 5 นักเรียนจะต้องรู้วิธีดำเนินการทางพีชคณิตกับตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการบวก ลบ คูณ หาร ซึ่งในขั้นตอนนี้ การซื้อหรือขาย Item ในร้าน Pokémon Shop ถือเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งในการฝึกฝน นักเรียนควรจะต้องคำนวณได้ว่า หากมีเงินในกระเป๋า 10,000 เยน ใช้เงินดังกล่าวซื้อ Ultra Ball 3 ลูกๆ ละ 300 เยน และซื้อ Pokéball 2 ลูกๆ ละ 200 เยน ควรจะเหลือเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ (8,700 เยน) ด้วยวิธีนี้จะทำให้นักเรียนสามารถเลือกซื้อ Item เตรียมเอาไว้สำหรับการต่อสู้ในครั้งหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีเงินเหลือไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (เช่น แพ้การต่อสู้ และต้องเสียเงินบางส่วนไป) การอ่านค่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ในเกมและตีความหมายเป็นตัวเลขก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น  Pokémon ที่ถูกท่า “Confusion” จะทำให้ทุกครั้งที่ Pokémon นั้นใช้ท่าต่อสู้ใดๆ ก็ตาม มีโอกาส 50% ที่ Pokémon จะใช้ท่านั้นไม่สำเร็จและทำร้ายตัวเองแทน การแปลงและตีความค่าเหล่านี้ให้กลายเป็นตัวเลขและเศษส่วนจะมีความสำคัญมากขึ้นในชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป

มาถึงช่วง ป. 6 – ม. 1 นักเรียนควรจะต้องสามารถใช้งานพีชคณิตได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถคำนวณผลลัพธ์ของสูตรต่างๆ ได้ เมื่อนักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับค่า HP ของ Pokémon  และการเปรียบเทียบระดับ Level ระหว่างคู่ต่อสู้เป็นอย่างดีแล้ว เพียงแค่ใช้หลักการทางสถิติ นักเรียนก็สามารถคาดเดาถึงผลลัพธ์ของการต่อสู้ได้โดยอาศัยเพียงแค่การคำนวณเท่านั้น ตัวแปรต่างๆ ของ Pokémon แต่ละตัว เช่น ระดับ Level, ธาตุ, ประเภทของ Pokémon ดังกล่าว (Pokémon บางตัวมีธาตุมากกว่า 1 ธาตุ), เพศ, ระดับพลังโจมตี, พลังป้องกัน, ความว่องไว, สถานะที่ติด หรือแม้แต่การพิจารณาว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อน ล้วนแล้วแต่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณผลลัพธ์ของการโจมตีที่เกิดขึ้นได้ ทำให้นักเรียนสามารถเลือกใช้ท่าโจมตีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการโจมตี Pokémon ของคู่ต่อสู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นท่าที่แรงที่สุดเสมอไป

ส่วนช่วงสุดท้ายของหลักสูตรนี้ ซึ่งก็คือ ม. 2 – ม. 3 การประยุกต์ใช้หลักการทางสถิติและความน่าจะเป็นคือสิ่งที่นักเรียนควรจะต้องเข้าใจและสามารถใช้งานได้ เราสามารถนำเรื่องเกี่ยวกับความน่าจะเป็นมาอธิบายถึงกลไกที่อยู่ในกฎการต่อสู้ของ Pokémon ได้ เช่นเดียวกับเกมเป่ายิ้งฉุบ ท่าที่ใช้ในการโจมตีของเหล่า Pokémon ทุกท่าจะมีการระบุค่าความแม่นยำเอาไว้ ซึ่งค่าเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ ขึ้นอยู่กับว่า Pokémon ที่ใช้ท่าดังกล่าวนั้นกำลังติดสถานะอะไรอยู่หรือไม่ หรือว่ามีการใช้ท่าสนับสนุน (Support) ต่างๆ ร่วมด้วยหรือไม่ การเลือกใช้ท่าที่มีความแม่นยำสูง และมีโอกาสโจมตี Pokémon ฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพ (จากการคำนวณพลังโจมตีและป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า) ย่อมดีกว่าท่าที่มีความแรง แต่ขาดความแม่นยำ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงสถานการณ์การต่อสู้ในเวลานั้นด้วย

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของเนื้อหาในบทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่สามารถประยุกต์ใช้ระบบและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ในเกม Pokémon  มาเป็นสื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ ดังที่ Dr. Yu ได้ยกตัวอย่างขึ้นมา ซึ่งหากแนวคิดนี้สามารถทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ และมีการนำไปใช้ต่อกับเกมอื่นๆ การเรียนการสอนในชั้นประถมและมัธยมคงจะมีสีสันขึ้นอีกมากครับ ประเด็นก็จะเหลือเพียงว่า จะทำอย่างไรให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการใช้เกมเป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการขจัดเรื่องราวและภาพลักษณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับเกมออกไปก่อน นอกจากนี้ ตัวของครูผู้สอนเองยังอาจจะต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากผู้ผลิตเกมเพื่อช่วยสอนวิธีการเล่นเกม (เป็นที่ทราบกันดีว่าการสอนอะไรใหม่ๆ ให้กับคนที่มีอายุแล้วเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรเลยละครับ) และแนวทางการสอนในวิชาต่างๆ โดยใช้เกมเป็นสื่อการเรียนการสอน และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด บรรดาผู้ผลิตเกมเองยังจะต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาของเกมให้มากขึ้นกว่า นี้ เพราะหากเกมได้กลายมาเป็นสื่อการเรียนการสอนจริงๆ แล้ว เด็กๆ ในชั้นเรียนก็จะมีโอกาสได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกมได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงควรมีผู้ปกครอง หรือครู คอยให้คำแนะนำอยู่ข้างๆ เด็กนักเรียนตลอดเวลา เช่นเดียวกับการดูทีวี หรือภาพยนตร์นั่นเอง

มิเช่นนั้นแล้วเด็กอาจจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกของเกม และโลกแห่งความจริงได้ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งครับ

classroomgag.jpg

Courtesy:

http://ieeexplore.ieee.org/xpls/abs_all.jsp?arnumber=4148854

http://dl.acm.org/citation.cfm?id=1251983.1253016

http://en.wikipedia.org/wiki/Pok%C3%A9mon

http://www.schoollibraryjournal.com/article/CA6727277.html

http://bulbanews.bulbagarden.net/wiki/Can_Pok%C3%A9mon_be_educational%3F

Link to comment
Share on other sites

เป็นบทความที่ดีทีเดียว ขอบคุณมากครับ owo

(ถึงจะเป็นไปได้ที่สื่อการเรียนการสอนนี้จะเป็นจริงได้แต่(อาจจะ))คงเป็นไปไม่ได้ที่สื่อการเรียนการสอนนี้จะเข้าไทย เนอะ... owo

Link to comment
Share on other sites

อืม.....

ดูท่าถ้ามีจริงศจ.น่าจะได้เป็นครูซะแทน

และเห็นการคำนวนมีประสิทธิภาพแบบนี้ ซาโตชิน่าจะจบแค่อ.3ก่อนออกไปเป็นTrainerแฮะ

Link to comment
Share on other sites

นอกจากในเรื่องคณิตศาตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็ได้ด้วยมั้ง

จำได้ว่าเคยอ่านเจอที่ไหนสักที่แหละ (แต่นานมากแล้ว)

รู้สึกจะเอาตำนานของเดียอัลก้ากับพัลเคียมาใช้สอนในเรื่องกาลเวลาและอวกาศเนี่ยแหละ

Link to comment
Share on other sites

เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันนะครับ ระบบการสอนแบบนี้มันน่าจะใช้ได้ดีกว่าแบบปรกติตอนนี้ที่ให้เรียนแต่ในหนังสือแต่ก็คงเป็นไปได้ยากนะครับ

ป.ล.แต่พอมาคิดดูแล้วการสอบคงจะเป็นให้เครียเกมหรือ wifi สู้กับครู ท่องตารางธาตุ(โปเกมอน)  ท่องจำชื่อโปเกมอน อะไรแบบนี้คงแปลกไม่น้อย

:pika11:

Link to comment
Share on other sites

มีบทความดีๆอีกแล้ว ขอบคุณมากนะครับอ่านเพลินมากเลย

Link to comment
Share on other sites

คนเล่นPOหลายคนยังท่องตารางธาตุไม่ได้เลย (ฮา)

ผมว่าเป็นหลักคณิตศาสตร์ที่โอเคนะ ตัวเลขจำกัด แต่การคิดต่อไปมันจะเป็น Critical Thinking มาก เพราะว่าเป็นการคิดเลขโดยอิงความรู้สึกคนด้วย ยิ่งเล่นแข่งออนไลน์กับบางคนหลายๆรอบบางทีเราเจอคู่ต่อสู้คนละคน โปเกมอนเราทีมเดิมเรายังออกท่าไม่เหมือนกันเลย แม้ว่าคู่ต่อสู้จะลอกทีมเป๊ะๆมาเล่นด้วยเนี่ย

Link to comment
Share on other sites

Please sign in to comment

You will be able to leave a comment after signing in



Sign In Now
  • Recently Browsing   0 members

    • No registered users viewing this page.
×
×
  • Create New...

Important Information

By using this site, you agree to our Terms of Use and Privacy Policy. We have placed cookies on your device to help make this website better. You can adjust your cookie settings, otherwise we'll assume you're okay to continue.